คุยกับฮิโระและไมเคิล สองหนุ่มช่างภาพไทยและช่างภาพญี่ปุ่นกับคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ Bangkok Sequencity

วันนี้ tonari มีบทสัมภาษณ์พิเศษของสองหนุ่ม ต่างสัญชาติและอาชีพ แต่เพราะมีความชอบคล้ายๆ กัน ทำให้ได้มาเป็นเพื่อนกัน และวันนี้พวกเขาทั้งสองก็ได้กอดคอกันจัดนิทรรศการภาพถ่ายในกรุงเทพ “Bangkok Sequencity” ด้วยกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ฮิโระและไมเคิล

ไมเคิล: สวัสดีครับ ไมเคิล ศิรชัช เจียรถาวร อายุกำลังจะ 29 ปี ปัจจุบันเป็น ดีเจ CAT RADIO นักแสดงอิสระ และช่างภาพอิสระครับ
ฮิโระ: สวัสดีครับ ผมชื่อฮิโรทาโระ โซโนะ อายุ 33 ปี เป็นสถาปนิก แล้วก็ถ่ายภาพด้วยครับ

tonari: อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มถ่ายภาพคะ

ไมเคิล: แรงบันดาลใจมีหลายอย่างครับ คุณพ่อผมชอบถ่ายรูป เราก็เห็นท่านถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก ก็สนใจ ตอนเด็กๆ ก็ชอบเอากระดาษมาม้วนๆ แล้วส่องดู รู้สึกว่ามองผ่านม้วนกระดาษแล้วแสงและมุมมองที่ได้ต่างจากมองภาพด้วยตาเปล่า เลยสนใจเรื่องมุมมองก่อน ส่วนเรื่องถ่ายภาพคิดว่าน่าจะเริ่มสนใจตั้งแต่ตอน ม.3 แต่มีกล้องเป็นของตัวเองประมาณตอน ม.5 ตอนนั้นกำลังจะเรียนจบจะไม่ได้เจอเพื่อนแล้ว ก็อยากถ่ายภาพเพื่อนเก็บไว้กะมาทำหนังสือรุ่นด้วย ต่อมาพอได้เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ก็ได้ถ่ายรูปมากขึ้น เราโชคดีที่พอได้ทำงานในวงการบันเทิงก็มีโอกาสได้เจอตากล้องหลายท่านก็ไปถามเขา เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาไม่ได้ไปเรียนในห้องเรียนครับ

ฮิโระ: สำหรับผม ครั้งแรกเลยการถ่ายภาพก็คือการบันทึกภาพการออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ เพื่อศึกษาถึงแนวคิดของผู้ออกแบบ และสร้างแรงบันดาลใจในสายงานของผม แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การถ่ายภาพไม่ได้เป็นแค่การบันทึกงานดีไซน์เท่านั้น แต่ทำให้ผมอยากถ่ายทอดถึงความรู้สึกในพื้นที่นั้นๆ ด้วยครับ

tonari: ชอบถ่ายภาพแนวไหนเอ่ย

ไมเคิล: จุดเริ่มต้น ชอบถ่ายแนว Landscape และ Portrait แต่ว่าหลังๆ เริ่มรู้ตัวว่าไม่ชอบจัดแจงอะไรเท่าไหร่ เลยชอบถ่ายแนว Street Portrait หรือ Documentary มันก้ำกึ่งไม่ได้ไปสุดทางใดทางหนึ่ง และไม่ค่อยอยากจำกัดแนวทางของตัวเองเท่าไหร่ ปล่อยไปตามความรู้สึกว่าตอนนั้นอยากถ่ายแนวไหนครับ

ฮิโระ: ภาพถ่ายของผมจะอิงตามสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเส้นแนวตั้งและแนวนอนที่ต้องถูกต้องและแม่นยำ แต่ผมก็อยากจะเปลี่ยนแนวอยู่เหมือนกัน อยากจะผสมผสานความมีชีวิตของผู้คนและกิจกรรมเข้าไปในภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นสไตล์งานของผมในตอนนี้

tonari: ชอบใช้กล้องดิจิตอลหรือกล้องฟิล์มมากกว่ากัน

ไมเคิล: ผมว่ามันดีกันคนละอย่าง กล้องดิจิตอลมีความรวดเร็ว แม่นยำ ได้รูปที่เพอร์เฟ็ค รูปงานส่วนใหญ่ก็มักจะใช้กล้องดิจิจอลเป็นหลัก ส่วนกล้องฟิล์มเหมือนไว้ใช้บำบัดตัวเอง เพราะกล้องฟิล์มมันเช็ครูปไม่ได้ เหมือนโดนบังคับให้ใช้เวลาอยู่กับสถานที่นั้น และไม่ควรยกกล้องถ่ายตลอดเวลา เพราะค่าฟิล์มมันแพงครับ (ฮา)

ฮิโระ: ถ้าเป็นการถ่ายงานสำหรับผมก็ต้องเป็นกล้องดิจิตอล เพราะต้องการความถูกต้องแม่นยำในการเก็บภาพ Perspective เพราะผมไม่สามารถแบกขาตั้งกล้องไปด้วยตลอด ซึ่งถ้าเป็นไฟล์ดิจิตอลผมสามารถเอาไปแก้ไขในโปรแกรมต่อได้ แต่สำหรับการถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นความทรงจำ ผมชอบกล้องฟิล์มนะ เวลาไปเที่ยวกับภรรยาก็จะใช้กล้องฟิล์มถ่าย เพราะความทรงจำนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือปรุงแต่งได้ ก็ชอบทั้งคู่ขึ้นอยู่กับโอกาสในการใช้งาน

tonari: กล้องตัวโปรดและเลนส์ที่ชอบ

ฮิโระ: กล้อง Sony A73 เลนส์ ขนาด 24-105mm f/4 ส่วนใหญ่ผมถ่ายภาพสถาปัตยกรรม แล้วเลนส์ตัวนี้ก็จับภาพได้อย่างครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกอาคาร สามารถซูมเพื่อให้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น เพดาน หรือชั้นสอง ถ่ายจากด้านนอกไกลๆ ได้ดี ผมเคยสะสมกล้อง แต่ไม่ได้สะสมแล้ว เพราะตอนจากญี่ปุ่นมา ก็ทิ้งกล้องไว้ที่นู่นเลย ตอนนี้ก็ใช้แค่ตัวเดียว

ไมเคิล: ตอบยากมาก เอาเป็นกล้องที่ใช้บ่อยช่วงนี้ดีกว่า Sony A7C กล้องฟูลเฟรมขนาดเล็ก เลนส์ที่ชอบใช้จะเป็นเลนส์ระยะ 50 ที่ชอบเพราะกล้องตัวเล็กดูเฟรนด์ลี่กว่า เข้าหาผู้คนได้ง่ายกว่า แล้วก็น้ำหนักเบา กล้องดิจิตอลไว้ใช้งาน กล้องฟิล์มไว้สะสม ซึ่งจริงๆ ผมก็อยากเลิกเป็นนักสะสมนะ มันดูจบยาก เสียเงินเยอะมาก พยายามจะขายทิ้ง และเก็บไว้เฉพาะตัวที่ชอบจริงๆ

tonari: ช่างภาพคนโปรดล่ะ

Photo credit: Ansel Adams
https://www.anseladams.com/

ไมเคิล: ผมชอบ Ansel Adams เพราะการถ่ายภาพสมัยก่อนมันลำบาก อุปกรณ์ไม่ได้เอื้อต่อการถ่ายเหมือนในสมัยนี้ สมัยก่อนกล้องตัวเบ้อเริ่มเขาต้องแบกไปถ่ายตามสถานที่ธรรมชาติ แล้วถ่ายด้วยกล้องฟิล์มก็ไม่รู้ด้วยว่าภาพจะออกมาสวยรึเปล่า ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะถ่ายภาพจริงๆ และเวลาผมดูภาพของเขาก็รู้สึกเหมือนมีพลังอยู่ข้างใน

Photo Credit: Iwan Baan
https://iwan.com/

ฮิโระ: ช่างภาพที่ชอบคือ Iwan Baan ครับ เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม เขาสร้างทิศทางใหม่ของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่แต่เดิมมักจะเป็นการถ่ายอาคารอย่างเดียว แต่เขามักจะถ่ายภาพผู้คนร่วมกับอาคารด้วย ทำให้พื้นที่ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศและกิจกรรม เพื่อสื่อสารกับผู้คนถึงวิธีการใช้พื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจ และอยากถ่ายแบบนั้นบ้าง

tonari: ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจในการถ่ายภาพให้ฟังหน่อย

ภาพบ้านสีชมพู ถ่ายโดยไมเคิล

ไมเคิล: การถ่ายภาพทำให้รู้จักและเข้าใจคนมากขึ้น เหมือนอุปกรณ์เปิดบทสนทนา ทำให้มีเรื่องคุยกันมากขึ้น อย่างตอนที่ไปถ่ายงานนี้ ไปเจอบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านสีชมพูสดใส สักพักเจ้าของบ้านเดินออกมาถามว่ามาทำอะไร มาถ่ายบ้านเขาทำไม ผมเลยคุยกับเขาว่าบ้านสีสวยมาก ทำไมถึงทาสีนี้ เขาตอบว่าทาสีนี้แล้วรู้สึกสดชื่น อยากให้คนที่ผ่านมาเห็นรู้สึกสดชื่นเหมือนกัน ทำให้เราเข้าใจมุมมองของเขา ซึ่งถ้าแค่เดินผ่านก็คงไม่เข้าใจ

ภาพชีวิตใต้สะพาน ถ่ายโดยฮิโระ

ฮิโระ: ผมรู้สึกประทับใจเวลาที่เห็นสิ่งที่มันเหนือความคาดหมาย ผมก็จะถ่ายภาพเก็บเอาไว้ เช่น มีหลายๆ พื้นที่ในกรุงเทพที่มีการใช้พื้นที่แบบเทาๆ อย่างเช่นการวางเก้าอี้ไว้ริมทาง การใช้พื้นที่ใต้สะพานเป็นที่อยู่ หรือใช้เป็นที่เตะบอล สิ่งเหล่านี้ไม่มีในญี่ปุ่นเลย แต่ในประเทศไทยดูอะไรก็เป็นไปได้ อีกอย่างทีแรกผมไม่รู้จะถ่ายภาพอะไรกับไมเคิล เพราะแนวการถ่ายของพวกเราแตกต่างกัน แต่เมื่อเราได้แชร์รูปที่ถ่ายให้กันดู ก็เห็นถึงความเข้ากันได้และมันก็น่าสนใจมาก แล้วผมก็เป็นคนออกแบบพื้นที่ของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ การดีไซน์การจัดวางรูปและสเปซไปพร้อมๆ กัน เป็นเรื่องที่สนุกมาก เป็นจุดที่ทำให้ผมประทับใจ เป็นการจัดพื้นที่ของนิทรรศการครั้งแรกของผมครับ

tonari: แล้วทำไมถึงมาจัดนิทรรศการด้วยกันได้

ฮิโระ: บิว ภรรยาของผมเป็นคนเริ่มต้นโปรเจ็คนี้ เธอถามผมว่าทำไมไม่ลองจัดนิทรรศการในเมืองไทยดูล่ะ เพราะตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผมกลายมาเป็นฟรีแลนซ์และเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง ผมสร้าง SNS สร้าง Blog ลงรูปที่ตัวเองถ่ายไว้ ปรากฎว่ามีคนชอบเยอะ แล้วผมก็สนุกกับมันมาก

ภาพฮิโระถ่ายโดยไมเคิล

จริงๆ แล้ว ผมวางแผนว่าจะกลับประเทศญี่ปุ่นกับภรรยาในปีนี้ นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของผมที่จะได้ทำนิทรรศการในเมืองไทย ได้พบเจอกับผู้คนที่สนใจในภาพถ่ายของผมก็ได้ แต่ผมเห็นว่าภาพถ่ายของผมมีแต่สถาปัตยกรรมทั้งนั้นเลย ผมไม่ถนัดถ่ายภาพผู้คน แล้วส่วนตัวผมรู้จักไมเคิลในฐานะช่างภาพมากกว่านักแสดง (เนื่องจากผมไม่ได้ดูซีรีส์ไทยเพราะไม่เข้าใจภาษาไทย) เราเป็นเพื่อนกัน แล้วเขาก็ถ่ายภาพผู้คนได้ดีมากๆ ด้วย ดังนั้นผมจึงคิดว่าถ้าเรามาร่วมโปรเจ็คกัน ก็จะแสดงให้เห็นถึงคอนเซ็ปต์ของเมืองได้ เพราะคำว่า “เมือง” มันมาจากการรวมกันของผู้คนและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งภรรยาผมก็ชอบไอเดียนี้มาก เราก็เลยติดต่อไมเคิลไป

ภาพไมเคิล ถ่ายโดยฮิโระ

ไมเคิล: ผมรู้จักกับฮิโระมา 4 ปีแล้ว ผมชอบในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เพลง ฯลฯ และผมกับฮิโระก็ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เลยทำให้เราเข้ากันได้ดี จริงๆ ตอนแรกเราวางแผนกันว่าจะแบ่งกันถ่าย ผมถ่ายสิ่งมีชีวิต ฮิโระถ่ายสิ่งไม่มีชีวิต แต่พอไปถ่ายจริงๆ ก็ไม่ได้แบ่งแบบนั้น ใครสนใจอะไรก็ถ่ายมา เลยกลายเป็นความแตกต่างของมุมมองของคนในแต่ละอาชีพมากกว่า คนสองคนไปที่เดียวกันยังไงก็ถ่ายภาพไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

tonari: นิทรรศการนี้เป็นภาพถ่ายในกรุงเทพ ช่วยพูดถึงกรุงเทพหน่อยค่ะ

ภาพถ่ายโดยไมเคิล

ไมเคิล: ผมเป็นคนกรุงเทพ แต่ไปโตที่สมุทรปราการ แล้วก็กลับมากรุงเทพช่วงเข้ามหาวิทยาลัย กรุงเทพเป็นเมืองที่ไม่เพอร์เฟ็ค มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีอะไรหลายอย่างที่เราเห็นได้ในกรุงเทพแต่ที่อื่นไม่มี มีทั้งข้อดีข้อเสียแล้วแต่คนจะมอง

ภาพถ่ายโดยฮิโระ

ฮิโระ: ผมมาอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว กรุงเทพเป็นเมืองที่มีความขัดแย้งอยู่ มีความหลากหลายทางด้านชุมชน ศาสนา ผู้คน และสถานที่ต่างๆ ซึ่งมันก็มีผลต่อการการวางผังเมือง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามจัดการให้มันดี แต่วิธีการใช้พื้นที่มันไม่เป็นไปตามแผน พื้นที่ลักษณะนั้นมันน่าสนใจดี ผมอยากจะถ่ายรูปเอาไว้

tonari: แล้วคำว่า Sequencity หมายถึงอะไร

ไมเคิล: จริงๆ เราอยากจะหาจุดเชื่อมระหว่างความเป็นสถาปนิกและความเป็นนักแสดง จนได้คำว่า “Sequence” ทางการแสดงหมายถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง การที่อยู่ในสถานที่เดียวกันแต่อยู่คนละเวลา ก็จะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เราอาจจะมาร้านกาแฟในวันที่คนเยอะมาก ทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ถ้ามาในวันที่คนน้อย ก็อาจจะรู้สึกดี หรือรู้สึกเหงาก็ได้ ส่วนคำว่า “City” มันไม่ได้หมายถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียวแต่หมายถึงผู้คนด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันลงตัว

ฮิโระ: จากมุมมองของผม Sequence เกิดจากการดีไซน์ของสถาปนิก เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่กับที่ ลำดับของสถาปัตยกรรมก็คือการออกแบบเรื่องราว ออกแบบวิธีการที่ผู้คนเคลื่อนที่ไปมาในพื้นที่เหล่านั้น เช่น มีคนเดินเข้ามาในร้านกาแฟ เดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อสั่งกาแฟ มานั่งรอที่เก้าอี้ ที่ตรงนั้นสามารถมองเห็นสระว่ายน้ำได้ มีแสงสว่างที่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือ ทำให้การนั่งในพื้นที่ตรงนั้นมีเรื่องราวขึ้นมา นี่คือความหมายของคำว่า ลำดับ มันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย ส่วนคำว่า “City” คือ การรวมกันของผู้คนและสถาปัตยกรรม เราอยากจะเก็บบันทึกมันไว้

tonari: อยากฝากอะไรถึงคนที่จะมาชมนิทรรศการนี้บ้าง

ไมเคิล: เป็นครั้งแรกที่เราตั้งใจจัดนิทรรศการกันขึ้นมาเอง แบบเริ่มต้นจากศูนย์เลยครับ อยากให้มาอย่างมีความสุข อาจจะได้มุมมองอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจกลับไปครับ

ฮิโระ: เราได้พยายามจัดพื้นที่ในงานให้เป็นลำดับ Sequence เหมือนกับชื่อโปรเจ็คด้วย ผมจึงอยากให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์จากงานนิทรรศการที่เราได้สร้างขึ้นมา เป็นการมองเห็นกรุงเทพแบบใหม่ นี่เป็นนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกของผมครับ

ห้ามพลาดกับนิทรรศการภาพถ่ายในกรุงเทพ Bangkok Sequencity
ในมุมมองที่แตกต่างของนักแสดงชาวไทย และสถาปนิกชาวญี่ปุ่น

วันที่ 24 เมษายน – 6 พฤษภาคม
เวลา 12:00 -20:00 (หยุดทุกวันจันทร์)
สถานที่ Bridge Art Space ชั้น 3 (ใกล้ BTS สะพานตากสิน)
เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/events/1210850965984188/
คลิปสัมภาษณ์: https://www.facebook.com/watch/?v=294626438928044