ที่มาของการจุดดอกไม้ไฟของญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นของการจุดดอกไม้ไฟมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1867) โดยเทศกาลแรกที่ได้รับการจดบันทึกอย่างเป็นทางการ คือ “เทศกาลซุยจิน (水神祭) ” ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 1733 ที่แม่น้ำสุมิดะในเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) และเนื่องจากช่วงเวลานั้นมีผู้คนเสียชีวิตจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก การจุดดอกไม้ไฟจึงเปรียบเสมือนการปลอบประโลมดวงวิญญาณ และอธิษฐานให้ภัยพิบัติผ่านพ้นไป
ธรรมเนียมการแข่งขันดอกไม้ไฟ
ด้วยความสวยงามและแปลกใหม่ของดอกไม้ไฟ จึงก่อให้เกิดช่างทำดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่างที่มีชื่อเสียง คือ ช่างจากร้านคางิยะและช่างจากร้านทามายะ เมื่อช่างทั้ง 2 จุดดอกไม้ไฟแข่งกัน ผู้คนที่มาเข้าร่วมงานก็มักจะตะโกนชื่อ “คางิย้าาา~” และ “ทามาย้าา~” เพื่อเชียร์ช่างที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งธรรมเนียมการตะโกน 2 คำนี้ก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน
ทำไมเทศกาลดอกไม้ไฟที่ญี่ปุ่นนิยมจัดขึ้นในฤดูร้อน?
การจุดดอกไม้ไฟได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องและได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “คาวะบิระกิ มัทสึริ (川開き祭り)” หรือเทศกาลเฉลิมฉลองการเปิดแม่น้ำที่จัดขึ้นบริเวณริมแม่น้ำสุมิดะ ซึ่งในเวลาต่อมา ธรรมเนียมการจุดดอกไม้ไฟก็ค่อยๆ แพร่หลายไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วทั้งญี่ปุ่น
ด้วยความที่หน้าร้อนญี่ปุ่นร้อนและชื้นมาก ไม่เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเดินผ่อนคลายเพื่อรับลมในยามเย็นและเพลิดเพลินกับการชมดอกไม้ไฟจึงกลายมาเป็นตัวแทนของกิจกรรมหน้าร้อนที่สุด
สรุป
เทศกาลดอกไม้ไฟ (花火大会) จะจัดขึ้นในช่วงหน้าร้อน (เดือนกรกฏาคม-สิงหาคม) ของทุกปี ซึ่งบางงานจะมีการประชันดอกไม้ไฟจากช่างที่ทำดอกไม้ไฟด้วย เทศกาลดอกไม้ไฟไม่เพียงแต่จัดขึ้นแค่ในฤดูร้อนเพียงอย่างเดียว บางพื้นที่ก็จัดขึ้นในฤดูอื่นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วย
เทศกาลดอกไม้ไฟหลักของญี่ปุ่น ที่เป็นที่นิยมที่สุด 3 แห่งคือ
- การแสดงดอกไม้ไฟเทศกาลนางาโอกะ (เมืองนางาโอกะ จังหวัดนีงะตะ)
กำหนดการ: 2-3 สิงหาคม 2567 - การแข่งขันดอกไม้ไฟแห่งชาติ หรือดอกไม้ไฟโอมาการิ (เมืองไดเซ็น จังหวัดอาคิตะ)
กำหนดการ: 31 สิงหาคม 2567 - การแข่งขันดอกไม้ไฟแห่งชาติทสึจิอุระ (เมืองทสึจิอุระ จังหวัดอิบารากิ)
กำหนดการ: 2 พฤศจิกายน 2567