ห้องพัก Rakuten แพนด้าสุดมุ้งมิ้งในจังหวัดฟุคุโอกะ

บริษัท Rakuten เว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังของญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัทจัดหาที่อยู่ LIFULL ก่อตั้งเป็นบริษัท Rakuten LIFULL STAY, Inc. ให้บริการที่พักในหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น เป็นโรงแรม วิลล่า บ้านพัก ฯลฯ หนึ่งในนั้นที่อยากแนะนำคือ Rakuten STAY Fukuoka Yakuin ที่จังหวัดฟุคุโอกะ มีห้องพักลักษณะเหมือนอพาร์ตเม้นต์ทั้งหมด 22 ห้อง มีอยู่ 8 ห้องเป็นห้องพิเศษที่ตกแต่งด้วยคาแรกเตอร์แพนด้าชอปปิ้งของ Rakuten (お買いものパンだ)และแพนด้าน้อย (小パンダ) ตามจุดต่างๆ ของห้อง ในห้องมีตุ๊กตาแพนด้าตัวใหญ่ๆ วางอยู่ สามารถถ่ายรูปเล่นได้ และยังมี Amenity หรือของใช้ในโรงแรมที่สามารถนำกลับไปบ้านได้ด้วยถึง 7 อย่าง ได้แก่ กระเป๋าใส่ของ แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ขวดสบู่-แชมพู-ครีมนวด รองเท้าสลิปเปอร์ และที่รองแก้ว ห้องพักแพนด้าชอปปิ้งมีสองแบบ คือ แบบเตียงคู่ (คืนละ 20,000 เยน พักได้ไม่เกิน 2 ท่าน) และสามเตียง (คืนละ 25,000 เยน พักได้ไม่เกิน 3 ท่าน) เริ่มเปิดให้จองเพื่อเข้าพักได้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป ที่เว็บไซต์ https://stay.rakuten.co.jp/okaimonopanda/

เนีย นายสถานีแมวแห่งเมืองทาเคตะ จังหวัดโออิตะ ขวัญใจผู้ใช้บริการตลอด 3 ปี

เวลาพูดถึงแมวที่เป็นนายสถานีรถไฟที่ญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงทามะจังที่จังหวัดวากายามะเป็นที่แรก แต่จริงๆ แล้วยังมีแมวอีกหลายที่ หนึ่งในนั้นคือ “เนีย” แมวเพศเมียอายุประมาณ 12-13 ปี ที่สถานี JR Bungo- Taketa เมืองทาเคตะ จังหวัดโออิตะ ที่เพิ่งจะจัดพิธีฉลองครบรอบ 3 ปี การเป็นแมวสถานีไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เนียเคยเป็นแมวเร่ร่อนที่มาเดินเตร็ดเตร่อยู่แถวสถานีเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แล้วก็ตั้งรกรากอยู่แถวสถานีซะเลย เธอเป็นแมวที่เป็นมิตร สุภาพ บางครั้งก็จะพาน้ำหนักตัว 4 กิโลของเธอไปนอนอยู่บนตักของคนที่มานั่งรอรถไฟในสถานี ด้วยความน่ารักเลยทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้อำนวยการ” ของศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวที่อยู่ข้างๆ สถานีเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 และต่อมาก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายสถานีเมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี 2018 ในงานครบรอบ 3 ปี มีผู้คนในละแวกนั้นมาร่วมงานกันประมาณ 30 คน ทางสมาคมการท่องเที่ยวของเมืองได้เตรียมของขวัญให้กับเนีย เป็นกล่องไม้ที่เต็มไปด้วยอาหารและขนมแมว นอกจากนี้ยังเตรียมโปสการ์ดและคุกกี้รูปเนีย แจกให้กับผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย คุณฮิโนะ ทาดามาสะ วัย 57 ปี ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นนายสถานี(ที่เป็นคน) ของที่นี่ เมื่อต้นเดือนกล่าวว่า เนียเป็นนายสถานีรุ่นพี่ที่อยากจะทำงานด้วยกันให้ดีที่สุดต่อไป ที่มา: oita-press

MAKOTO MARKETING หนังสือที่แนะนำการทำการตลาดแบบยั่งยืนโดย คุณเกตุวดี

มีหนังสือออกใหม่อยากแนะนำค่ะ “MAKOTO MARKETING” ผลงานของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ เกตุวดี Marumura ผู้เขียนหนังสือ “ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น” มาโกโตะ แปลว่าความจริงแท้ ไม่ปรุงแต่ง เป็นหนังสือที่พูดถึงการทำการตลาดแบบยั่งยืนสไตล์ญี่ปุ่น หรือการทำการตลาดด้วยหัวใจ สุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ทำให้ธุรกิจเป็นที่รักของลูกค้าในระยะยาว คนทำการตลาดเองก็มีความสุขเช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษหลายอย่าง เป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ The Cloud มีคุณทรงกลด บางยี่ขันรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เนื้อหาภายในเล่มน่าสนใจและเข้าใจง่าย แต่ละบทมีทั้งทฤษฎี เคส บทสรุป และแบบฝึกหัดให้ได้ลองทำ และปกหนังสือก็สวยมาก ฝีมือการออกแบบของคุณ หมี-จิรณรงค์ วงษ์สุนทร ที่คิดไปถึงการนำสัดส่วนของธนบัตรเงินเยนที่ถูกพับเป็นรูปหัวใจ แล้วคลี่ออกมาเป็นปกหนังสือ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ใส่ใจและละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอนการผลิตเลย ใครสนใจ สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์

คุยกับฮิโระและไมเคิล สองหนุ่มช่างภาพไทยและช่างภาพญี่ปุ่นกับคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ Bangkok Sequencity

วันนี้ tonari มีบทสัมภาษณ์พิเศษของสองหนุ่ม ต่างสัญชาติและอาชีพ แต่เพราะมีความชอบคล้ายๆ กัน ทำให้ได้มาเป็นเพื่อนกัน และวันนี้พวกเขาทั้งสองก็ได้กอดคอกันจัดนิทรรศการภาพถ่ายในกรุงเทพ “Bangkok Sequencity” ด้วยกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย ไมเคิล: สวัสดีครับ ไมเคิล ศิรชัช เจียรถาวร อายุกำลังจะ 29 ปี ปัจจุบันเป็น ดีเจ CAT RADIO นักแสดงอิสระ และช่างภาพอิสระครับฮิโระ: สวัสดีครับ ผมชื่อฮิโรทาโระ โซโนะ อายุ 33 ปี เป็นสถาปนิก แล้วก็ถ่ายภาพด้วยครับ tonari: อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มถ่ายภาพคะ ไมเคิล: แรงบันดาลใจมีหลายอย่างครับ คุณพ่อผมชอบถ่ายรูป เราก็เห็นท่านถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก ก็สนใจ ตอนเด็กๆ ก็ชอบเอากระดาษมาม้วนๆ แล้วส่องดู รู้สึกว่ามองผ่านม้วนกระดาษแล้วแสงและมุมมองที่ได้ต่างจากมองภาพด้วยตาเปล่า เลยสนใจเรื่องมุมมองก่อน ส่วนเรื่องถ่ายภาพคิดว่าน่าจะเริ่มสนใจตั้งแต่ตอน ม.3 แต่มีกล้องเป็นของตัวเองประมาณตอน ม.5 ตอนนั้นกำลังจะเรียนจบจะไม่ได้เจอเพื่อนแล้ว ก็อยากถ่ายภาพเพื่อนเก็บไว้กะมาทำหนังสือรุ่นด้วย ต่อมาพอได้เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ก็ได้ถ่ายรูปมากขึ้น เราโชคดีที่พอได้ทำงานในวงการบันเทิงก็มีโอกาสได้เจอตากล้องหลายท่านก็ไปถามเขา เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาไม่ได้ไปเรียนในห้องเรียนครับ ฮิโระ: สำหรับผม ครั้งแรกเลยการถ่ายภาพก็คือการบันทึกภาพการออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ เพื่อศึกษาถึงแนวคิดของผู้ออกแบบ และสร้างแรงบันดาลใจในสายงานของผม แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การถ่ายภาพไม่ได้เป็นแค่การบันทึกงานดีไซน์เท่านั้น แต่ทำให้ผมอยากถ่ายทอดถึงความรู้สึกในพื้นที่นั้นๆ ด้วยครับ tonari: ชอบถ่ายภาพแนวไหนเอ่ย ไมเคิล: จุดเริ่มต้น ชอบถ่ายแนว Landscape และ Portrait แต่ว่าหลังๆ เริ่มรู้ตัวว่าไม่ชอบจัดแจงอะไรเท่าไหร่ เลยชอบถ่ายแนว Street Portrait หรือ Documentary มันก้ำกึ่งไม่ได้ไปสุดทางใดทางหนึ่ง และไม่ค่อยอยากจำกัดแนวทางของตัวเองเท่าไหร่ ปล่อยไปตามความรู้สึกว่าตอนนั้นอยากถ่ายแนวไหนครับ ฮิโระ: ภาพถ่ายของผมจะอิงตามสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเส้นแนวตั้งและแนวนอนที่ต้องถูกต้องและแม่นยำ แต่ผมก็อยากจะเปลี่ยนแนวอยู่เหมือนกัน อยากจะผสมผสานความมีชีวิตของผู้คนและกิจกรรมเข้าไปในภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นสไตล์งานของผมในตอนนี้ tonari: ชอบใช้กล้องดิจิตอลหรือกล้องฟิล์มมากกว่ากัน ไมเคิล: ผมว่ามันดีกันคนละอย่าง กล้องดิจิตอลมีความรวดเร็ว แม่นยำ ได้รูปที่เพอร์เฟ็ค รูปงานส่วนใหญ่ก็มักจะใช้กล้องดิจิจอลเป็นหลัก ส่วนกล้องฟิล์มเหมือนไว้ใช้บำบัดตัวเอง เพราะกล้องฟิล์มมันเช็ครูปไม่ได้ เหมือนโดนบังคับให้ใช้เวลาอยู่กับสถานที่นั้น และไม่ควรยกกล้องถ่ายตลอดเวลา เพราะค่าฟิล์มมันแพงครับ (ฮา) ฮิโระ: ถ้าเป็นการถ่ายงานสำหรับผมก็ต้องเป็นกล้องดิจิตอล เพราะต้องการความถูกต้องแม่นยำในการเก็บภาพ Perspective เพราะผมไม่สามารถแบกขาตั้งกล้องไปด้วยตลอด ซึ่งถ้าเป็นไฟล์ดิจิตอลผมสามารถเอาไปแก้ไขในโปรแกรมต่อได้ แต่สำหรับการถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นความทรงจำ ผมชอบกล้องฟิล์มนะ เวลาไปเที่ยวกับภรรยาก็จะใช้กล้องฟิล์มถ่าย เพราะความทรงจำนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือปรุงแต่งได้ ก็ชอบทั้งคู่ขึ้นอยู่กับโอกาสในการใช้งาน tonari: กล้องตัวโปรดและเลนส์ที่ชอบ ฮิโระ: กล้อง Sony A73 เลนส์ ขนาด 24-105mm f/4 ส่วนใหญ่ผมถ่ายภาพสถาปัตยกรรม แล้วเลนส์ตัวนี้ก็จับภาพได้อย่างครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกอาคาร สามารถซูมเพื่อให้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น เพดาน หรือชั้นสอง ถ่ายจากด้านนอกไกลๆ ได้ดี ผมเคยสะสมกล้อง แต่ไม่ได้สะสมแล้ว เพราะตอนจากญี่ปุ่นมา ก็ทิ้งกล้องไว้ที่นู่นเลย ตอนนี้ก็ใช้แค่ตัวเดียว ไมเคิล: ตอบยากมาก เอาเป็นกล้องที่ใช้บ่อยช่วงนี้ดีกว่า Sony A7C กล้องฟูลเฟรมขนาดเล็ก เลนส์ที่ชอบใช้จะเป็นเลนส์ระยะ 50 ที่ชอบเพราะกล้องตัวเล็กดูเฟรนด์ลี่กว่า เข้าหาผู้คนได้ง่ายกว่า แล้วก็น้ำหนักเบา กล้องดิจิตอลไว้ใช้งาน กล้องฟิล์มไว้สะสม ซึ่งจริงๆ ผมก็อยากเลิกเป็นนักสะสมนะ มันดูจบยาก เสียเงินเยอะมาก พยายามจะขายทิ้ง และเก็บไว้เฉพาะตัวที่ชอบจริงๆ tonari: ช่างภาพคนโปรดล่ะ ไมเคิล: ผมชอบ Ansel Adams เพราะการถ่ายภาพสมัยก่อนมันลำบาก อุปกรณ์ไม่ได้เอื้อต่อการถ่ายเหมือนในสมัยนี้ สมัยก่อนกล้องตัวเบ้อเริ่มเขาต้องแบกไปถ่ายตามสถานที่ธรรมชาติ แล้วถ่ายด้วยกล้องฟิล์มก็ไม่รู้ด้วยว่าภาพจะออกมาสวยรึเปล่า ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะถ่ายภาพจริงๆ และเวลาผมดูภาพของเขาก็รู้สึกเหมือนมีพลังอยู่ข้างใน ฮิโระ: ช่างภาพที่ชอบคือ Iwan Baan ครับ เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม เขาสร้างทิศทางใหม่ของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่แต่เดิมมักจะเป็นการถ่ายอาคารอย่างเดียว แต่เขามักจะถ่ายภาพผู้คนร่วมกับอาคารด้วย ทำให้พื้นที่ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศและกิจกรรม เพื่อสื่อสารกับผู้คนถึงวิธีการใช้พื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจ และอยากถ่ายแบบนั้นบ้าง tonari: ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจในการถ่ายภาพให้ฟังหน่อย ไมเคิล: การถ่ายภาพทำให้รู้จักและเข้าใจคนมากขึ้น เหมือนอุปกรณ์เปิดบทสนทนา ทำให้มีเรื่องคุยกันมากขึ้น อย่างตอนที่ไปถ่ายงานนี้ ไปเจอบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านสีชมพูสดใส สักพักเจ้าของบ้านเดินออกมาถามว่ามาทำอะไร มาถ่ายบ้านเขาทำไม ผมเลยคุยกับเขาว่าบ้านสีสวยมาก ทำไมถึงทาสีนี้ เขาตอบว่าทาสีนี้แล้วรู้สึกสดชื่น อยากให้คนที่ผ่านมาเห็นรู้สึกสดชื่นเหมือนกัน ทำให้เราเข้าใจมุมมองของเขา ซึ่งถ้าแค่เดินผ่านก็คงไม่เข้าใจ ฮิโระ: […]

Workshop How to Furoshiki โดยวิทยากรชาวญี่ปุ่น

จบไปแล้วกับเวิร์คชอปครั้งแรกเรา ทีมงาน tonari ขอขอบคุณวิทยากรและนักเรียนทุกท่านที่เข้าร่วมเวิร์คชอป “How to Furoshiki” สนุกกับการใช้ผ้าห่อของ โดยวิทยากรชาวญี่ปุ่น คุณซาโนะ เคอิจิ จัดที่ร้าน Happening Library เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา นักเรียนทุกคนน่ารักมากค่ะ เราเรียนกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง หลายๆ ท่านเก่งกันมากๆ ใครทำเป็นก็สอนเพื่อนๆ ต่อ นอกจากได้ความรู้และความสนุกสนานแล้ว ยังได้มิตรภาพกลับไปด้วย ไว้พบกันอีกกับเวิร์คชอปต่อๆ ไปนะคะ